โรคที่มากับยุง โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี

ไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis)

โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Japanese encephalitis virus (JEV) ที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2476 และพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมียุงรำคาญ เป็นพาหะนำโรค ยุงรำคาญมีสีน้ำตาลหรือดำ เพาะพันธุ์ใน แหล่งน้ำขังนิ่งจะเป็นน้ำสะอาดหรือสกปรกก็ได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการทำปศุสัตว์ ยุงชนิดนี้พบชุกชมที่ภาคเหนือถึงร้อยละ 80 ระยะฟักตัวจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยนาน 9-13 วัน ยุงรำคาญมักจะออกหากินในเวลากลางคืน ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบ เจ อี เป็นได้ทุกช่วงอายุแต่พบมากในเด็กแรกเกิดถึง14 ปี โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน เชื้อไวรัสจะทำให้สมองเกิดการอักเสบ มีโอกาสสมองพิการและเสียชีวิตได้มาก ความสำคัญจึงอยู่ที่การป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ ซึ่งนอกจากจะต้องระวังไม่ให้ยุงกัดแล้ว ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปี สำหรับผู้ที่ติดเชื้อนี้แล้ว ไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการให้ยาตามอาการและการระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้วพบว่าอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50

การติดต่อ

เกิดจากยุงรำคาญ (Culex tritaeniorrhynchus) ที่มีเชื้อไวรัส JEV โดยยุงรำคาญตัวเมียจะดูดเลือดจากลูกสุกรที่เป็นแหล่งเชื้อไวรัส JEV (สามารถพบในโค กระบือ ม้า ลา หรือ แพะ ได้) เมื่อเชื้อเข้าสู่ตัวยุงแล้วจะเพิ่มจำนวนและไปสะสมที่ต่อมน้ำลาย ซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อให้คนที่ถูกยุงกัดได้

อาการของโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี
เมื่อถูกยุงรำคาญกัด เชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 5-15 วัน จากสถิติพบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสจากยุงกัดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มีเพียง 1 คนใน 200-300 คนเท่านั้นที่จะแสดงอาการป่วยออกมา ทั้งนี้ขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน เริ่มจากอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน มีอาการเหล่านี้นานประมาณ 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ซึมลง เพ้อ ชัก หมดสติ อัมพาต ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ร้อยละ 15 -30 หลังจากนั้นไข้จะเริ่มลดลง อาการทางระบบประสาทอาจค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 3 หรืออาจสูงถึงครึ่งหนึ่งที่จะมีภาวะแทรกซ้อนหลงเหลืออยู่ เช่น สมองบางส่วนถูกทำลาย เกิดอาการชัก และความพิการตามมา รวมถึงอาจทำให้ระดับสติปัญญาถดถอยลง

การป้องกันการติดเชื้อ

1. เด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (JE vaccine) ซึ่งอยู่ในโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่

1.1 วัคซีนชนิดเชื้อตาย สามารถรับการฉีดได้ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 1 ปีครึ่ง ส่วนการฉีดครั้งที่ 2 ให้ทิ้งระยเวลาห่างจากเข็มแรก 7-14 วัน และเข็มที่ 3 ฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ1 ปี และอาจต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 4-5 ปี อีกไม่เกิน 2 ครั้ง

1.2 วัคซีนแบบชนิดเชื้อเป็น เข็มแรกฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 ปี โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น
หมายเหตุ: สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจ อี มาก่อน ควรฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม

2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
3. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและทำลายลูกน้ำยุงบริเวณที่อยู่อาศัย และบริเวณที่มีปศุสัตว์ (โดยเฉพาะสุกร) และให้สัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค

อาการที่ควรไปพบแพทย์

มีอาการไข้ ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ต้นคอแข็ง ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึมลง เพ้อ ชักหมดสติ หรืออัมพาต ควรไปพบแพทย์ทันที

วิ่งแล้วน่องใหญ่ วิธีลดน่องที่ทำได้ง่ายๆ สาวๆ ห้ามพลาด

3 ท่าลดน่องง่าย ๆ ที่สาว ๆ ควรรู้ไว้

วิธีบริหารกล้ามเนื้อน่องง่าย ๆ ที่สาว ๆ จะนำไปทำตอนไหนก็ได้

วิ่งแล้วน่องใหญ่ ทำไงดี

1. ท่าดันกำแพง

เริ่มจาก การหันหน้าเข้ากำแพงแยกเท้าออกจากกัน โดยให้เท้าข้างหนึ่งห่างจากกำแพงประมาณ 1 ฟุตอีกข้างหนึ่งห่างจากกำแพงประมาณ 3 ฟุต

จากนั้น ใช้มือสองข้างยันกำแพงไว้ ขณะออกแรงดันกำแพงนั้น ควรให้ขาข้างที่ยืดไปข้างหลังอยู่ในแนวเส้นตรงส่วนขาที่อยู่ด้า­­­นหน้าให้งอเล็กน้อย ออกแรงดันค้างไว้ประมาณ 30 วินาทีหยุดพักเล็กน้อยสลับไปทำอีกข้าง ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ

 

2. ท่าเตะกลางอากาศ

เริ่มจาก นอนหงาย ชันเข่าขึ้นให้ชิดกัน ฝ่าเท้าราบไปกับพื้น มือทั้งสองข้างแนบลำตัวในลักษณะคว่ำฝ่ามือไว้

จากนั้น ยกขาข้างหนึ่งขึ้นมา เตะขึ้นไปบนอากาศอย่างรวดเร็ว ประมาณ 10-20 ครั้ง จากนั้นทำสลับข้างกัน ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ

วิ่งแล้วน่องใหญ่ ทำไงดี

 

3. ท่าแกว่งเท้าสลับ

เริ่มจาก ยืนเท้าเอวสองข้าง ยืนเท้าแยกกันพอเสมอกับช่วงไหล่

จากนั้น เอียงตัวเล็กน้อยยกขาข้างหนึ่งขึ้น ยืดออกไปด้านข้าง แล้วเริ่มแกว่งขึ้น ลงให้ปลายเท้าแตะพื้น ทำสลับข้างละ 15 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5-10 รอบ

 

ข้อน่ารู้เกี่ยวกับการวิ่ง

สำหรับใครที่มีความคิดอยากจะวิ่งกระชับกล้ามเนื้อน่องบ้างแล้ว ก็ควรมาอ่านข้อน่ารู้เกี่ยวกับการวิ่งกันก่อน เพื่อให้เราได้เตรียมตัวไปวิ่งได้อย่างถูกต้อง

– ควรสวมรองเท้าสำหรับวิ่งเท่านั้น และควรเลือกชุดวิ่งที่เนื้อผ้าโปร่งสบาย ดูดซับเหงื่อได้ดี ทางที่ดีควรเลือกสวมชุดสำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะ

การวิ่งสำหรับผู้หญิงและผู้ชายไม่ต่างกัน วิ่งให้เป็นธรรมชาติ อย่าเกร็งมากไป อย่าโน้มตัวไปข้างหน้ามากไป

– สำหรับผู้หญิงควรสวมสปอร์ตบราเพื่อความคล่องตัวขณะวิ่ง

– เลือกสไตล์การวิ่งที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง เช่น วิ่งในฟิตเนส วิ่งในสวนสาธารณะ

การวิ่งเป็นการเผาผลาญไขมัน ซึ่งไม่มีผลในการกระชับสัดส่วน หากวิ่งแล้วน้ำหนักลงได้พอสมควรแล้ว ก็ควรหาวิธีอื่นช่วยกระชับสัดส่วนเอาไว้ด้วย เช่น เล่นโยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น

– หากเพิ่งเริ่มวิ่งในช่วงแรก ขาจะใหญ่ขึ้น น้ำหนักก็ขึ้นนิดหน่อยด้วย เพราะร่างกายสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาหนากว่าเดิม ทำให้ดูขาใหญ่ขึ้น แต่ถ้าวิ่งต่อไปอีกสักระยะ การเผาผลาญไขมันจะดีขึ้น น่องและเรียวขาของเราจะดูเล็กลงเอง

– หากวันไหนร่างกายไม่พร้อม ควรหยุดพัก อย่าฝืนร่างกาย

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายใด ๆ นั้น สิ่งแรกที่เราควรคำนึงถึงเสมอก็คือ ความพร้อมของร่างกายนะคะ และต้องไม่ลืมว่าความแข็งแรงของร่างกายแต่ละคนนั้นไม่เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ อย่าหักโหมมากเกินไป มิเช่นนั้น การออกกำลังกายจะให้ผลเสียมากกว่าผลดี

รู้ทันภัยหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองลงมาจากโรคมะเร็ง หากรู้ตัวว่าเป็นแล้วต้องมีการดูแลตนเองเป็นอย่างดี เพื่อยืดอายุของคนไข้ให้ยาวนานขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากกระทำได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถต่อเวลาชีวิตออกไปได้


อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • เหนื่อยง่ายขณะออกแรง
  • หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
  • หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น
  • ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้น และเพศชายเป็นได้มากกว่าเพศหญิง หากในวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับเพศชาย
ประวัติครอบครัว

ปัจจัยที่ควบคุมได้

  1. การสูบบุหรี่
  2. ไขมันในเลือดสูง
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. ไม่ออกกำลังกาย
  5. น้ำหนักมากหรืออ้วน
  6. โรคเบาหวาน
  7. กินอาหารไม่มีประโยชน์
  8. ความเครียด

ผลกระทบหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้หรือรู้ตัวช้า ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามเวลา เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยเสี่ยง ไขมันจะเริ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้หลอดเลือดตีบหรือแคบลง ส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการปริแตกของหลอดเลือด เกล็ดเลือดหลุดเข้าไปอุดตันทางเดินของหลอดเลือด และเมื่อมีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจเกินร้อยละ 50 คนไข้จะเริ่มมีอาการแสดง

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

หากคนไข้พบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอก หรืออาการอื่นที่กล่าวมาข้างต้น คนไข้จะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจภายใน 10 นาที และเจาะเลือดเพื่อดูเอนไซม์ของหัวใจ หากสูงขึ้นแสดงว่ามีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ ร่วมกับซักประวัติคนไข้ สอบถามระยะเวลาที่เจ็บแน่นหน้าอก หากมากกว่า 20 นาที อาจเกี่ยวข้องกับอาการหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • หากหลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน รักษาด้วยยา
  • หากหลอดเลือดตันมาก รักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ
  • หากไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้ รักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ

การดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (ควบคุมอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ลดน้ำหนักตัว)
  2. กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  3. กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร
  4. กินอาหารแต่พออิ่ม หลังกินเสร็จพัก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพราะหลังกินอาหารเลือดจะไปเลี้ยงที่ท้อง หากไม่พักจะทำให้เจ็บหน้าอก
  5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลังการรักษาแพทย์จะให้คนไข้ฝึกเดิน จากนั้นควรเพิ่มระยะเวลาทีละน้อย
  6. ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน ลดความเครียด
  7. ไม่สูบบุหรี่
  8. การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  9. หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว และอาหารเค็มจัด
  10. กินอาหารที่มีไขมันน้อย
  11. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  12. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  13. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
  14. ควบคุมน้ำหนัก
  15. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง